ค่าเงินบาทอ่อนมาก ทุนสำรองลด 8,700 ล้านเหรียญในเดือนเดียว สถานการณ์นี้น่ากังวลมากหรือไม่?

ตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนมาก และในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาทุนสำรองของไทยลดลงไป 8,679.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชวนมองกันว่าสถานการณ์นี้น่ากังวลหรือไม่ แล้วทุนสำรองควรมีเท่าไรจึงไม่น้อยเกินไป

Source: ค่าเงินบาทอ่อนมาก ทุนสำรองลด 8,700 ล้านเหรียญในเดือนเดียว สถานการณ์นี้น่ากังวลมากหรือไม่?

14 ก.ค. 65
รุ่งนภา พิมมะศรี

Summary

  • ตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนมาก ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องเข้ามาดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ ไม่ให้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยใช้ ‘เงินสำรองระหว่างประเทศ’ หรือ ‘ทุนสำรอง’ ออกมาแทรกแซงค่าเงิน
  • ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิของไทยลดลงไป 8,679.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงไป 26,729.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เงินสำรองฯ ที่ลดลงไปจำนวนนี้ถือว่ามากหรือน้อย สถานการณ์เงินสำรองของไทยน่ากังวลหรือไม่ และเงินสำรองระหว่างประเทศนั้นควรมีเท่าไรถึงจะเพียงพอให้สบายใจ? ไทยรัฐพลัสชวนคิดไปด้วยกัน

นอกจาก ‘เงินเฟ้อ’ แล้ว อีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้คือ ‘เงินบาทอ่อนค่า’ คือภาวะที่เงินบาทมีค่าน้อยลง เมื่อนำไปแลกเงินต่างประเทศเราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นจึงจะได้เงินต่างประเทศในหน่วยเท่าเดิม ซึ่งโดยทั่วไปก็คือเป็นการเทียบค่าจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทอ่อนค่ารอบนี้ทำสถิติต่ำสุดที่อัตราแลกเปลี่ยน (อัตราอ้างอิง) 36.3040 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง

การที่ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ ไม่ให้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

กลไกการดูแลเสถียรภาพของเงินบาทนี้จะเกี่ยวกับคำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ ‘เงินสำรองระหว่างประเทศ’ (International Reserve) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ทุนสำรอง’ (มาจาก ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ – Foreign Exchange Reserves) ซึ่งหมายถึง สินทรัพย์ที่ถือครองหรือควบคุมโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีที่จำเป็น เช่น นำมาใช้ชดเชยการขาดดุลการชำระเงิน หรือใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

เงินสำรองระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สินทรัพย์ในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ (หลักๆ เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ) ทองคำ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเงินนี้ไม่ได้เป็นเงินของรัฐบาล หรือของธนาคารกลาง แต่เป็นเงินของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารกลางเพียงทำหน้าที่ดูแลรักษาเพื่อให้คนในประเทศมีเงินตราต่างประเทศใช้อย่างเพียงพอเท่านั้น

เงินสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรไทยออกใช้ เรียกว่า ‘ทุนสำรองเงินตรา’ และอีกส่วนหนึ่งมีบทบาทเป็นเครื่องมือดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของไทย หรือเป็น ‘กันชน’ ให้ระบบเศรษฐกิจไทย โดยใช้เงินสำรองระหว่างประเทศรองรับความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งอาจกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออก และราคาสินค้าในประเทศ

กลไกการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็คือ ถ้าอยู่ในช่วงเวลาที่ความต้องการเงินบาทลดลงอย่างมากจนเงินบาทอ่อนมากหรืออ่อนลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้าดูแลแทรกแซงค่าเงินเพื่อชะลอการอ่อนค่าโดยการซื้อเงินบาทและขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งก็จะส่งผลให้จำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศ (ทุนสำรอง) ลดลง

ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงขึ้นมาก เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ธปท. อาจเข้าดูแลค่าเงินบาทเพื่อชะลอการแข็งค่า โดยการขายเงินบาท และเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาไว้ในเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้จะส่งผลให้จำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าดูแลค่าเงินบาทหรือไม่ ก็สะท้อนให้เห็นในจำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มาก-น้อยเพียงใด

การที่ค่าเงินบาทอ่อนในรอบปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก หลักๆ ก็คือการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve System: Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มสูงขึ้น

ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงข่าวชี้แจงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าเกิดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 7.6 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า แต่เมื่อเทียบประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.7 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเงินบาทยังมีความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

และธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า ยังไม่ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาท จะปล่อยให้เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจและกลไกตลาด แต่ก็ไม่ได้ชะล่าใจ หากเงินบาทอ่อนมากหรือผันผวนจนผิดปกติก็จะเข้าไปดูแล ไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ถ้าเราอยากรู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทแล้วหรือยัง เราสามารถดูได้จาก ‘เงินสำรองระหว่างประเทศ’ ว่ามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เมื่อดูข้อมูลมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ พบว่า วันที่ 3 มิถุนายน 2565 มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) อยู่ที่ 259,260.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8,914,674.66 ล้านบาท และวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ อยู่ที่ 250,581.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8,904,899.16 ล้านบาท

เท่ากับว่า ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) ของไทย ลดลงไป 8,679.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทไทย 9,775.5 ล้านบาท

และถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปี วันที่ 7 มกราคม 2565 มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) อยู่ที่ 277,310.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 9,317,626.09 ล้านบาท และวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ อยู่ที่ 250,581.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8,904,899.16 ล้านบาท

บวกลบกันตามนี้ก็เท่ากับว่า ในช่วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงไป 26,729.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทไทย 412,726.93 ล้านบาท

แล้วเงินสำรองฯ ที่ลดลงไปนี้ถือว่ามากหรือน้อย สถานการณ์เงินสำรองของไทยน่ากังวลหรือไม่?

ก่อนจะเจอคำตอบของคำถามนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าประเทศหนึ่งประเทศควรมีเงินสำรองระหว่างประเทศเท่าไรถึงจะมากพอดี?

ซึ่งตัวชี้วัดว่าประเทศไหนควรมีเงินสำรองระหว่างประเทศเท่าใด คือ ต้องดูสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (หนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี) และสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้า

หลักการก็คือ ประเทศควรมีสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (หนี้ที่ต้องชำระภายใน 1 ปี) ซึ่งนั่นหมายถึงว่า แม้ไม่มีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาเลย ประเทศนั้นก็ยังมีเงินตราต่างประเทศพอสำหรับชำระหนี้ได้อีก 1 ปี โดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ และประเทศควรมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอที่จะนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน ซึ่งหมายความว่า ถ้าใน 3 เดือนนั้นไม่มีรายได้เข้าประเทศเลย ประเทศนั้นก็ยังมีเงินเพียงพอสำหรับการนำเข้าสินค้าได้

สำหรับประเทศไทย เงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงไป 26,729.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาครึ่งปี และลด 8,679.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาเดือนเดียว (มิถุนายน) แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แต่มันก็ไม่ได้มากจนน่าเป็นกังวล เพราะว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของเราที่ยังมีอยู่ประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในตอนนี้ คิดเป็นประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และสามารถรองรับการนำเข้าได้ประมาณ 9 เดือน ถือว่าเป็นระดับที่สูงและมีความแข็งแกร่งมาก

ดังนั้นจึงพอจะพูดให้สบายใจกันได้ว่า แม้เศรษฐกิจของเรายังไม่ฟื้นดี แต่ทุนสำรองของเราแข็งแกร่งมาก คงไม่นำพาไปสู่สถานการณ์แบบในศรีลังกา และลาวในเร็วๆ นี้

แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ และอีกหลายฝ่ายกังวลกันก็คือ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนลงอีก และนั่นหมายความว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะต้องนำทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเลขค่าเงินบาทและทุนสำรองของเราจะลดลงไปสิ้นสุดตรงไหน

อ้างอิง : ธปท. (1), ธปท. (2), ธปท. (3), ธปท. (4), ธปท. (5), ธปท. (6)

Leave a Comment