Source: เมื่อเธอพูด วงการดนตรีโลกจะรับฟัง : เทย์เลอร์ สวิฟต์ กับวิธีทวงคืนสิทธิ์ผ่านการรีเรคคอร์ดอัลบั้มเก่า
28 พ.ย. 64
พิมพ์ชนก พุกสุข
ใครสักคนกล่าวไว้ว่า เวลาที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขยับตัวทำอะไร ก็มักจะกลายเป็นกระแสคลื่นโหมกระหน่ำสำหรับคนในวงการบันเทิงโลกได้เสมอ
เพราะลำพังแค่เดือนพฤศจิกายน 2021 เพียงเดือนเดียว ก็ดูจะสนับสนุนคำกล่าวจากข้างต้นได้เป็นอย่างดี เมื่ออัลบั้ม Evermore (2020) ของเธอได้เข้าชิง ‘อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี’ จากเวทีแกรมมี่ หลังจากปีที่แล้ว Folklore (2020) อัลบั้มอินดี้/โฟล์กลำดับที่ 8 ของเธอเพิ่งคว้ารางวัลเดียวกันนี้มาครอง
ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนนี้ เธอเพิ่งจะปล่อยอัลบั้ม Red (Taylor’s Version) อันเป็นการรีเรคคอร์ด (Re-Recording) หรือ ‘บันทึกเสียงเพลงเดิมขึ้นใหม่อีกครั้ง’ จากอัลบั้มเก่าที่เธอเคยปล่อยออกมาเมื่อเก้าปีก่อนอย่าง Red (2012) และส่งให้บทเพลงในอัลบั้มกลับมามีชีวิตบนชาร์ตเพลงอีกครั้ง รวมถึง All Too Well (10 Minute Version) เพลงบัลลาดเนิบช้าความยาวสิบนาทีเต็มที่เคยปล่อยเวอร์ชันห้านาทีมาให้ฟังกันแล้วเมื่อปี 2012 ก็ทะยานขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 จนกลายเป็นเพลงที่ยาวที่สุดซึ่งเคยปรากฏบนชาร์ตเพลงนี้ (โดยโค่นแชมป์เก่าคือ American Pie เพลงความยาวเก้านาทีของ ดอน แม็กลีน ที่ครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 1972 ลงได้)
Red (Taylor’s Version) ไม่ใช่อัลบั้มแรกที่สวิฟต์ตัดสินใจรีเรคคอร์ดจากผลงานเก่า เพราะเมื่อต้นปี เธอเพิ่งปล่อย Fearless (Taylor’s Version) ที่ก็เป็นการรีเรคคอร์ดอัลบั้มลำดับที่สองของเธอในปี 2008 (และเป็นอัลบั้มของเธอที่คว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากแกรมมี่ได้เป็นครั้งแรก) โดยเป้าประสงค์ของสวิฟต์ คือการได้รีเรคคอร์ดอัลบั้มลำดับที่ 1-6 ของเธอใหม่ทั้งหมด และจนถึงตอนนี้ เธอทำสำเร็จไปแล้วสองอัลบั้ม
เหตุผลที่ทำให้เธอต้องลงแรงอัดบทเพลงเก่าๆ ของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกรอบนั้น เป็นผลมาจากความบาดหมางระหว่างตัวเธอกับค่ายเพลงอย่าง Big Machine ที่เธอเคยสังกัดมาตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นศิลปิน
ย้อนไปเมื่อปี 2005 สวิฟต์ในวัย 16 ปี ตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงในค่าย Big Machine ซึ่งเป็นค่ายเพลงคันทรียักษ์ใหญ่ในเมืองแนชวิลล์ ที่ควบคุมดูแลโดย สก็อตต์ บอร์เช็ตตา โดยสัญญาดังกล่าวกินเวลาถึง 13 ปีเต็ม โดยในระหว่างนั้น สวิฟต์ได้ปล่อยอัลบั้มออกมาทั้งสิ้น 6 อัลบั้ม สร้างชื่อเป็นศิลปินคันทรีสาวหน้าใหม่ แล้วจึงขยับไปเป็นนักร้องเพลงป๊อปที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย
กระทั่งเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 13 ปี สวิฟต์จึงตัดสินใจบอกลาค่าย Big Machine ในปี 2018 แล้วย้ายไปอยู่กับสังกัดใหม่คือ Republic Records
ความร้าวฉานระหว่างสวิฟต์กับค่ายเพลงเก่าปะทุขึ้นในปี 2019 -หลังจากที่สวิฟต์ย้ายชายคาไปเพียงหนึ่งปี- เมื่อบอร์เช็ตตาที่เป็นเจ้าของค่าย ประกาศขายกิจการเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านเหรียญฯ พร้อมดีลทางธุรกิจต่างๆ ที่ค่าย Big Machine ถือไว้ รวมถึงลิขสิทธิ์เพลงทุกเพลงของค่ายด้วย โดยที่ผ่านมานั้น สวิฟต์รับรู้ถึงเค้าลางว่าบอร์เช็ตตาจะ ‘เปลี่ยนมือ’ ผู้ถือสิทธิ์ของค่ายอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เนื่องจากไม่รู้แน่ชัดว่าอนาคตของเธอภายใต้ผู้ดูแลคนใหม่จะเป็นอย่างไร
และพร้อมกันนั้น ก็ยังรู้ตัวและทำใจไปด้วย เพราะถึงอย่างไรเสีย คนที่ครองลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ของเธอ ก็คงเป็นผู้ถือสิทธิ์ค่ายคนใหม่ …ไม่ใช่ตัวเธอ
อย่างไรก็ดี การจากกันด้วยดีในปี 2018 กลับนำมาสู่การคัดง้างต่อสู้กันทางลิขสิทธิ์ในปี 2019 ภายหลังจากที่บอร์เช็ตตาประกาศว่า ผู้ถือครองสิทธิ์ของ Big Machine คนใหม่คือ สกูเตอร์ บรอน ที่เป็นผู้จัดการของศิลปินยักษ์ใหญ่อย่าง จัสติน บีเบอร์ และ อารีอานา กรานเด
ชื่อนี้เองที่จุดชนวนให้สวิฟต์กำหมัดแน่น และออกแถลงการณ์อย่างดุดันว่า เธอไม่พอใจอย่างมากที่บรอนจะมาเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ทั้งหกอัลบั้มของเธอ เพราะสำหรับสวิฟต์ ชื่อของบรอนเป็นเสมือนของแสลงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว (ถึงขั้นที่เมื่อมีผู้สื่อข่าวเอ่ยถึงบรอนระหว่างการสัมภาษณ์ แล้วเธอก็แลบลิ้นพร้อมส่งเสียง ‘แหวะ’ ออกมา)
ความบาดหมางระหว่างเขากับสวิฟต์เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ (หรืออย่างน้อยก็ ‘เห็นได้ชัด’) มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่สวิฟต์มีกรณีพิพาทกับ คานเย เวสต์ ศิลปินฮิปฮอปที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเธอในปี 2009 ตอนที่เธอได้รับรางวัลใหญ่จากเวที VMA แล้วเขาขึ้นไปแย่งไมค์ต่อหน้าคนทั้งฮอลล์ และสื่อมวลชนทุกสำนัก จนกลายเป็นข่าวใหญ่ในขณะนั้น
แต่ที่รุนแรงที่สุด คือเมื่อปี 2016 ที่เวสต์ปล่อยเพลง Famous ที่ช่วงหนึ่งของเพลงพูดถึงคนที่ชื่อ เทย์เลอร์ ว่าเขารู้สึกเหมือนเพิ่งจะมีเซ็กซ์กับเธอ (Me and Taylor might still have sex.) และเขาทำให้ ‘นังคนนั้น’ มันโด่งดังขึ้นมา (I made that bitch famous.) มิหนำซ้ำ มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ก็แสนจะอื้อฉาว เพราะนำคนหน้าคล้ายคนดังมานอนเปลือยบนเตียง ซึ่งมีคนหน้าคล้ายสวิฟต์, โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ คิม คาร์ดาเชียน เมียรักของเวสต์ (ในเวลานั้น) รวมอยู่ด้วย สวิฟต์จึงออกมาโจมตีเวสต์ว่า เธอไม่เห็นรู้เรื่องเลยว่าเขาพูดถึงเธอในเพลง ‘แบบนั้น’ จนคาร์ดาเชียนปล่อยคลิปบันทึกเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเวสต์กับสวิฟต์ ว่าดูเหมือนฝ่ายหลังจะตกลงให้ฝ่ายแรกพูดถึงเธอในเพลง ‘แบบนั้น’ ได้
สวิฟต์ถูกทัวร์ลงครั้งใหญ่ และชื่อเสียงเสียหายรุนแรง จนต้องเก็บตัวเงียบเชียบ ไม่ออกไปไหนนานนับปี — อย่างไรก็ตาม กรณีนี้โอละพ่อมาก เพราะในปี 2020 มีคลิปสนทนาฉบับเต็มออกมา ปรากฏว่าที่สวิฟต์พูดนั้นถูกทุกอย่าง เพราะที่เธอ ‘อนุญาต’ คือให้เอ่ยชื่อเธอในเพลง (คือคำว่า Taylor) ได้ รวมทั้งให้มีท่อน might still have sex ได้อีกเหมือนกัน แต่ที่เธอไม่รู้มาก่อน และไม่พอใจที่มารู้ทีหลัง คือท่อน I made that bitch famous จนทัวร์หันไปลงเวสต์กับคาร์ดาเชียนแทน
หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเอ็มวีเพลง Famous นั้นสร้างความช้ำใจให้สวิฟต์อย่างที่สุด เพราะมันนำมาสู่ข่าวฉาวที่ทำให้เธอถูกโจมตีทุกทิศทาง แถมภาพลักษณ์ก็เสียหายเกินจะกอบกู้ไหวในเวลาอันสั้น แต่ต่อมา ก็กลับมีคลิปของ จัสติน บีเบอร์, เวสต์ กับ สกูเตอร์ บรอน (ซึ่งเป็นผู้จัดการส่วนตัว) รวมตัวกันแล้วเขียนแคปชั่นว่า “ไง เทย์เลอร์ สวิฟต์” ซึ่งเธอมองว่าเป็นการหยามหมิ่นและหยาบคายอย่างมาก
ดังนั้น การที่บรอน -ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นคนสนิทของเวสต์ ผู้สร้างบาดแผลให้เธอครั้งแล้วครั้งเล่า- กำลังจะมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ของเธอ เธอจึงลุกขึ้นสู้ยิบตา ไม่ว่าจะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดมาเป็นของตัวเอง (ประเมินกันต่ำๆ ว่ารายได้ของเธอตกปีละ 365 ล้านเหรียญฯ ถือว่าไม่เกินกำลัง และขนหน้าแข้งคงไม่ร่วงอยู่แล้ว) แต่ก็ไม่สามารถทำได้
สุดท้าย เธอจึงได้แต่มองดูบรอนถือสิทธิ์เพลงต่างๆ จากหกอัลบั้มของเธอไว้กับตัว และรู้ดีว่า ทุกครั้งที่มีคนเปิดเพลงนี้ตามคลื่นวิทยุหรือแม้แต่สตรีมมิง เม็ดเงินก็จะไหลเข้ากระเป๋าของค่าย Big Machine ซึ่งบรอนถือลิขสิทธิ์ไว้ โดยมีเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นที่จะถูกแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ไปเป็นของสวิฟต์ในฐานะศิลปิน
ในเมื่อซื้อลิขสิทธิ์เพลงเก่ามาเป็นของตัวเองไม่ได้ สวิฟต์จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาอัดเพลงเก่า ‘ทั้งหมดนั้น’ เสียใหม่ โดยการรีเรคคอร์ดครั้งนี้ ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมันได้กลายมาเป็นการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมดนตรีในสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่
(จริงๆ นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอปล่อยหมัดตรงใส่อุตสาหกรรมเพลง เพราะถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี 2014 เธอเคยดึงเพลงทั้งหมดของเธอออกจากสตรีมมิง Spotify เพื่อเป็นการประท้วงค่าแรงอันไม่เป็นธรรมแก่ศิลปิน โดยเฉพาะคนทำเพลงหน้าใหม่หรือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ Spotify จะปล่อยเพลงของพวกเขาได้ ก็ต่อเมื่อมีคนจ่ายแบบพรีเมียม ซึ่งศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีชื่อเสียง การตั้งเงื่อนไขเช่นนี้ขึ้นมา จึงไปจำกัดกลุ่มคนฟังให้น้อยลง หรืออีกครั้งคือเมื่อตอนที่เธอเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง Apple Music ที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินให้ศิลปินในช่วงระยะทดลองใช้งานสามเดือน จน Apple Music ต้องกลับลำอย่างว่องไว)
“ศิลปิน, โปรดิวเซอร์ และคนเขียนเพลงหน้าใหม่ๆ ยังต้องการมีพื้นที่ทำงาน ต้องทำตัวน่ารัก ทำตัวให้เป็นที่รักใคร่ของค่ายเพลงและฝั่งสตรีมมิง ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับเหล่าศิลปินที่เคยผ่านเรื่องพวกนี้มาก่อน ในการที่จะส่งเสียงว่า ‘ทุกคนคะ พวกโปรดิวเซอร์, คนแต่งเพลง และศิลปินน่ะ คือคนที่ทำให้ดนตรีเป็นดนตรีนะ’”
“ฉันเป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่รายที่ออกมาพูดเรื่องนี้แล้วคนจะได้ยิน” เธอบอก — ซึ่งก็คงไม่เกินความจริงแต่อย่างใด
เพราะสวิฟต์ตระหนักดีถึงชื่อเสียง อิทธิพล และพลังที่เธอถืออยู่ในมือ เธอคือคนที่ขายอัลบั้มได้รวดเดียวร้อยล้านชุด, ครองรางวัลจำนวนมากและสถิติยอดสตรีมมิงมหาศาล รวมถึงอยู่บนสังเวียนอันเชี่ยวกรากของอุตสาหกรรมดนตรีโลกมาร่วมสิบปี เธอจึงรับรู้ถึงความเป็นไป เข้าใจเงื่อนไขต่างๆ และในเวลาเดียวกันนั้น ก็พร้อมที่จะแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูก ‘ผู้ทรงอิทธิพล’ คนไหนในอุตสาหกรรมไม่ชอบหน้า
“ศิลปิน, โปรดิวเซอร์ และคนเขียนเพลงหน้าใหม่ๆ ยังต้องการมีพื้นที่ทำงาน ต้องทำตัวน่ารัก ทำตัวให้เป็นที่รักใคร่ของค่ายเพลงและฝั่งสตรีมมิง ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับเหล่าศิลปินที่เคยผ่านเรื่องพวกนี้มาก่อน ในการที่จะส่งเสียงว่า ‘ทุกคนคะ พวกโปรดิวเซอร์, คนแต่งเพลง และศิลปินน่ะ คือคนที่ทำให้ดนตรีเป็นดนตรีนะ’” เธอกล่าว
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็อาจสรุปได้ด้วยประโยคสั้นๆ ที่เธอเคยทวีตถึงศิลปินรุ่นใหม่ว่า “พวกคุณสมควรได้รับสิทธิในการเป็นเจ้าของงานศิลปะที่คุณสร้างมาขึ้นค่ะ”
การเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างผลกระทบที่น่าสนใจอย่างมากในวงการ เพราะแม้ค่าย Big Machine จะยังถือครองลิขสิทธิ์เพลงเก่าๆ ของสวิฟต์ และได้รายได้ทุกครั้งที่มีคนเปิดเพลงนี้ในที่สาธารณะ แต่การที่เธอนำเพลงมาทำใหม่ก็ส่งผลให้เพลงมีคุณภาพที่คมชัดขึ้น รวมถึงตัวสวิฟต์เองก็มีเส้นเสียงที่โตขึ้น สามารถร้องเพลงได้ดีกว่าเมื่อสิบปีก่อนมาก ทั้งยังมองว่าสิ่งที่บรอนทำกับสวิฟต์นั้น เป็นเสมือนการ ‘ขโมยผลงาน’ กันซึ่งๆ หน้า หลายคนจึงหันมาเลือกฟังเพลงเวอร์ชันที่เธอรีเรกคอร์ดมากกว่าต้นฉบับที่บรอนถือครองไว้
ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปินสาวยังจูงใจให้คนอยากฟังเพลงรีเรกคอร์ดของเธอมากขึ้น ด้วยการใส่เพลงเก่าๆ ที่เคยแต่งไว้เมื่อสิบปีก่อนและไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน ลงไปในอัลบั้มด้วย รวมถึงการบันทึกเสียงเพลงในเวอร์ชันพิเศษอย่าง All Too Well กับความยาวสิบนาทีเต็ม ก็มากพอจะทำให้หลายคนเลือกซื้ออัลบั้มรีเรคคอร์ดเหล่านี้ ซึ่งเป็น ‘ของเธอ’ อย่างแท้จริง แม้จะเคยซื้ออัลบั้มเวอร์ชันเก่ามาแล้วก็ตาม
เครือข่ายต่างๆ ในอุตสาหกรรมดนตรีเองก็ขยับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่น้อย โดยล่าสุด iHeartRadio คลื่นวิทยุยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ก็รับลูกด้วยการประกาศว่า นับแต่นี้ หากต้องเปิดเพลงของสวิฟต์ ก็จะเปิดเวอร์ชันที่เป็นของเจ้าตัวเองเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อระบบลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา และการเป็นเจ้าของผลงานของตัวศิลปินเองด้วย
จึงทำให้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า ในก้าวต่อไปถัดจากนี้ เมื่อ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ออกมา ‘ขยับปีก’ อีกครั้ง เธอจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้ไปอย่างไรอีกบ้าง
อ้างอิง: Wsj.com, Modachicago.org, Insider.com, Billboard (1, 2)