Source: เปิดที่มา “วันศารทวิษุวัต” กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ตรงกับ 23 ก.ย.นี้
วานนี้ 21 ก.ย.65 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อมูลเรื่องราวน่าสนใจของ “วันศารทวิษุวัต” เป็นวันที่เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน โดยเนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้
23 ก.ย. 65 นี้ “วันศารทวิษุวัต” เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน
“ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน
ดังนั้น Equinox หมายถึง “วันศารทวิษุวัต” วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และประเทศซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาล “วันศารทวิษุวัต” ขึ้นบนโลกนั่นเอง