เรามักจะคุ้นชินกันดีว่าผู้เป็นเบาหวานจะต้องมีน้ำตาลในเลือดสูง การรักษาโรคเบาหวานเพื่อที่จะลดน้ำตาลในเลือดที่สูงให้ลงมาอยู่ในระดับปกติ
Source: น้ำตาลต่ำในผู้เป็นเบาหวาน | For Your Sweetheart เบาหวานไม่เบาใจ
น้ำตาลต่ำในผู้เป็นเบาหวาน
การดูแลผู้ป่วย
โดย นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร
เรามักจะคุ้นชินกันดีว่าผู้เป็นเบาหวานจะต้องมีน้ำตาลในเลือดสูง การรักษาโรคเบาหวานเพื่อที่จะลดน้ำตาลในเลือดที่สูงให้ลงมาอยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันหรือลดโรคแทรกซ้อนอันเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง แต่บางครั้งบางคราว ผลของการรักษาดังกล่าวทำให้ผู้เป็นเบาหวานประสบกับสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ในที่นี้ขอเรียกสั้น ๆ ว่าน้ำตาลต่ำ) จนอาจเป็นอันตราย อาการอันเกิดจากระดับน้ำตาลต่ำมีตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงอาการรุนแรง เช่น หมดสติ ชัก หรืออาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการจากน้ำตาลต่ำมักจะเกิดค่อนข้างเร็วและรุนแรงกว่าอาการจากน้ำตาลสูง ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจะไม่อยากให้เกิดภาวะนี้ โดยบางคนพยายามรับประทานอาหารให้มากขึ้นหรือบ่อยขึ้น บางคนหยุดยาที่แพทย์สั่ง สิ่งที่ตามมาคือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ผู้เป็นเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ในการรักษาเบาหวาน แพทย์พยายามที่จะให้การรักษาโดยไม่ให้เกิดน้ำตาลต่ำ ในขณะเดียวกันผู้เป็นเบาหวานก็ต้องมีความรู้ที่จะสามารถป้องกันตนเองไม่ให้เกิดน้ำตาลต่ำ และถ้าเกิดขึ้นแล้วสามารถรักษาตัวเองในเบื้องต้นได้ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะน้ำตาลต่ำในผู้เป็นเบาหวานกัน
น้ำตาลต่ำในผู้เป็นเบาหวานเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- ใช้ยามากเกินขนาดที่กำหนด ยารักษาเบาหวานที่ทำให้เกิดน้ำตาลต่ำได้บ่อย คือ อินซูลิน และยาเม็ดกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เช่น กลัยเบ็นคลามายด์ กลิพิซายด์ กลัยมิพิรายด์ กลัยคาซายด์
- ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาเบาหวานไม่ถูกเวลา เช่น ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยาโดยไม่รับประทานอาหาร
- งดรับประทานอาหารในบางมื้อหรือรับประทานอาหารผิดเวลา
- ใช้แรงหรือออกกำลังกายมากเกินไป
- ไตวาย ผู้เป็นเบาหวานร่วมกับมีไตวายซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำตาลต่ำได้บ่อยกว่าผู้ที่ไตทำงานปกติ
ผู้เป็นเบาหวานที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดน้ำตาลต่ำ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- มีภาวะไตวาย
- เป็นเบาหวานมานานมากกว่า 10 ปี
- รักษาด้วยอินซูลิน
- ไม่มีอาการขณะน้ำตาลต่ำ
ทราบได้อย่างไรว่ามีน้ำตาลต่ำ
เราจะถือว่าผู้เป็นเบาหวานเริ่มมีน้ำตาลต่ำ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.
โดยอาจมีหรือไม่มีอาการอันเกิดจากน้ำตาลต่ำ อาการในระยะแรกผู้เป็นเบาหวานมักจะมีอาการรู้สึกหิว ใจสั่น ตาลาย เหงื่อออก ตัวเย็น มึนงง (อาการเหมือนเวลาหิวข้าวมาก ๆ ถ้าได้กินของหวาน อาการจะหายได้ทันที) ระยะต่อมา ถ้าผู้เป็นเบาหวานไม่กินของหวานเพื่อแก้ไข อาจมีอาการชักเกร็ง อัมพาต ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอีก อาจทำให้เสียชีวิตได้ บางคนโดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาจไม่มีอาการเตือนหรือไม่แสดงอาการ ถ้าไม่แน่ใจว่าเกิดภาวะน้ำตาลต่ำหรือไม่ให้ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (ถ้ามีเครื่องตรวจ) ถ้าพบว่าน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มก./ดล. 2 ครั้ง ให้แก้ไขด้วยวิธีการเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีอาการ
น้ำตาลต่ำมีผลเสียอย่างไรบ้าง
นอกจากอาการอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว น้ำตาลต่ำอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำตาลต่ำมากและเกิดบ่อย ๆ เช่น
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิต ในผู้มีโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- สมองเสื่อม
- โรคซึมเศร้า
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถ้าเกิดน้ำตาลต่ำขณะขับรถ
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มและเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- การเกิดน้ำตาลต่ำบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายรับรู้ต่อการเกิดน้ำตาลต่ำครั้งต่อไปน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดน้ำตาลต่ำชนิดรุนแรง เป็นต้น
วิธีแก้ไขน้ำตาลต่ำ
เมื่อเริ่มรู้สึกใจสั่น ตาลาย ให้ตรวจน้ำตาลในเลือดก่อน (ถ้ามีเครื่องตรวจ) แล้วแก้ไขดังนี้
- ให้รับประทานของหวานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ทันที
- น้ำตาลทราย 2-4 ช้อนชา หรือน้ำตาลก้อน 2 ก้อน
- ลูกกวาดหรือทอฟฟี่ 2 เม็ด
- ส้มหรือกล้วยน้ำว้า 1-2 ผล
- น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม ½-1 แก้ว ถ้าเป็นน้ำหวานเข้มข้น เช่น เฮลซ์บลูบอย ให้ใช้น้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ ½ แก้ว
- ให้นั่งพักสักครู่ ห้ามนอนราบ เพราะอาจเกิดการสำลักอาหารเข้าปอดได้
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 15 นาที ให้กินของหวานซ้ำอีกครั้ง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลหรือไปพบแพทย์
- ถ้าดีขึ้นและใกล้เวลาอาหารมื้อหลัก ให้รับประทานอาหารเลย
- ถ้าดีขึ้นและยังไม่ใกล้เวลาอาหารมื้อหลัก ควรกินอาหารว่างเพียงเล็กน้อย เช่น แซนด์วิชชิ้นเล็ก
หากมีอาการมากขึ้นถึงขั้นเป็นลมหมดสติ ให้แก้ไขโดย
- ให้ช่วยประคองผู้เป็นเบาหวานนั่ง หรือยกศีรษะให้สูงหน่อย แล้วใช้น้ำหวานข้น ๆ หรือน้ำเชื่อม หรือน้ำผึ้ง 2-4 ช้อนชา ป้ายกระพุ้งแก้ม ระวังอย่าให้สำลัก
- ถ้ายังไม่ฟื้นคืนสติภายใน 15 นาที ให้นำส่งโรงพยาบาลหรือพาไปพบแพทย์
ป้องกันน้ำตาลต่ำได้อย่างไร
ผู้เป็นเบาหวานสามารถป้องกันหรือลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้โดย
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกวัน ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ไม่รับประทานน้อยกว่าปกติ
- ใช้ยาให้ถูกขนาดและตามเวลาที่กำหนด
- อย่าใช้แรงหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป ควรรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังหรือกรณีต้องใช้แรงมาก
- เวลาออกนอกบ้านควรพกน้ำตาลหรือลูกกวาดหรือน้ำผลไม้กล่องติดตัวไว้เสมอ ไว้รับประทานเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
- ผู้เป็นเบาหวานบางราย โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาจไม่มีอาการในขณะมีน้ำตาลต่ำ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำตาลต่ำได้
"ผู้เป็นเบาหวานที่เป็นลมหมดสติจากน้ำตาลต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงตายได้"
"สิ่งที่ควรทำหลังเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ คือ ค้นหาสาเหตุเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ"
"ให้แจ้งแพทย์ผู้รักษาทราบทุกครั้ง ถ้าเกิดน้ำตาลต่ำ"