Source: แบบนี้! ผิวเยื่อหอม

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อเกสรดอกไม้

22 พ.ค. 2565 06:03 น.

คนรักพระสมเด็จที่เป็นศิษย์ครู “ตรียัมปวาย” อ่าน “ปริอรรถาธิบายแห่ง พระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จ..ก็คงคุ้นเคยกับคำอุปมา เนื้อพระสมเด็จบางเนื้อ..เช่น เนื้อเกสรดอกไม้..และคำอุปมาเรื่องผิวบางผิวเช่น “ผิวเยื่อหอม”

อยากจะเข้าใจคำอุปมาของครูให้ลึกซึ้ง ลองพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์เอวบางร่างน้อย พิมพ์ทรงถูกต้องทุก เส้นสาย ถูกทุกตำแหน่งแห่งที่ องค์ในคอลัมน์วันนี้

เรื่องเนื้อ..องค์นี้ เป็นองค์ครูที่มีคุณลักษณะ เนื้อเกสรดอกไม้เด่นชัด “ตรียัมปวาย” อธิบาย เนื้อประเภทนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นเนื้อที่สร้างด้วยผงเกสรดอกไม้ล้วนๆ หากมีความหมายแต่เพียงว่า เป็นเนื้อที่กอปรด้วยอนุภาคมวลสารอันละเอียดนุ่มนวล อุปมาดั่งมวลเกสรบุปผชาตินานาพรรณ

“เป็นเนื้อที่มีปรากฏเฉพาะของวัดระฆังเท่านั้น” ครูย้ำ

เนื่องจากองค์นี้เป็นพระถูกใช้สึกช้ำ ระดับกำลังงาม ส่วนนูนหนาขององค์พระ และเส้นซุ้ม เห็นความละเอียดนุ่มนวลของเนื้อ…ขาวอมเหลือง ปรากฏหลุมร่อง รูพรุนปลายเข็ม สีเข้มด้วยฝ้ารักน้ำเกลี้ยง…ดูหลากสี

ครูบอกว่า พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อเกสรดอกไม้ ควรมีลักษณะ 6 ข้อ

1.ความละเอียด วัสดุมวลสารส่วนใหญ่จะมีความละเอียดอย่างที่สุด ดุจอนุภาคของผงเกสรอันละเอียดยิบ ผ่านการบดกรองมาแล้วฉะนั้น

2.ความนุ่ม เนื่องจากเนื้อละเอียดจัดมีส่วนผสมปูนขาวน้อย จึงมีความนุ่มฉาบอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวของเนื้อ

3.ความหนึก มีลักษณะของความหนึกนุ่มอย่างจัด เสียงกระทบหนักแน่นและเข้ม ไม่สูงแหลมกังวานสดใสเท่าประเภทเนื้อหนึกแกร่ง ส่วนมากของเนื้อพระเกสรดอกไม้ มักมีสัณฐานค่อนข้างบาง (องค์นี้ค่อนข้างบาง)

4.ผิวแป้งโรยพิมพ์ ส่วนมากเป็นลักษณะ ทั่วไปของเนื้อเกสรดอกไม้ แต่องค์ในคอลัมน์ เป็นผิวบางกว่า แบบที่เรียก “ผิวเยื่อหอม” แทบจะกลมกลืนหายไปกับเนื้อ

5.ความฉ่ำ ปกติเป็นเนื้อประเภทที่มีความฉ่ำจัด ถ้าเป็นองค์ที่ผ่านการใช้จนผิวเนื้อรับสัมผัสราบเรียบ “ครู” แนะใช้กรรมวิธีเงาสว่าง หรือถ้าจะรักผิวแบบแห้งบริสุทธิ์ ก็เลือกกรรมวิธีความแห้งบริสุทธิ์ได้ ตามใจรัก

6.ความซึ้ง เป็นความซึ้งที่เกิดจากความละเอียดนุ่มนวลของเนื้อ มิใช่ความซึ้งอันเกิดจากการเรียงตัวในทางลึกของอนุภาคมวลสาร

ที่พูดกันว่า “ซึ้งตา” พระสมเด็จองค์นี้ ถือเป็นตัวอย่างความซึ้งตาได้ดี

ผ่านความซึ้งของเนื้อลงไปถึงผิว…ผิวพระสมเด็จที่บาง กลมกลืนไปกับเนื้อ แทบแยกไม่ออก ส่วนไหนเนื้อ ส่วนไหนผิว…ย้ำอีกที นี่คือผิวที่ครูเรียก “เยื่อหอม”

ลองมโนถึงตอนปอกเปลือกหอม… แต่ละชั้น จนถึงเปลือกชั้นในที่บางแสนบาง

“ตรียัมปวาย” อธิบายลักษณะผิวเยื่อหอมว่า จะไม่ปรากฏความหนาและวรรณะของผิวเลย

และวรรณะของเนื้อ ซึ่งมีลักษณะหม่นคล้ำต่างๆ จะปรากฏออกมาโดยเด่นชัด

ลงลึกไปในคุณลักษณะของพระสมเด็จวัดระฆัง เนื้อเกสรดอกไม้ ผิวเยื่อหอมแล้ว ถอนสายตาออกมาห่างๆ

ดูภาพรวม…ทั้งด้านหน้าด้านหลัง…ก็จะเห็นความแตกต่าง พระเนื้อนี้ผิวนี้ ไม่ปรากฏเม็ดมวลสารหยาบๆ กากดำ เม็ดแดง ก้อนขาว และรอยยุบ รอยแยก รอยยับ ฯลฯ ให้เห็น แต่ก็ปรากฏความนุ่ม ความซึ้งตา จากเนื้อละเอียดยิบ…ชดเชย

จึงถือพระสมเด็จวัดระฆังองค์ครูที่ดูงาม…ง่ายอีกองค์.

พลายชุมพล

Leave a comment