Source: เตรียมการจัดการผู้เสียชีวิตใน funeral phase | Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ

วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
9 กรกฎาคม 2564

เมื่อวานซืน ผมออกรายการสดของคุณสุทธิชัย หยุ่น ยอดผู้ป่วยใหม่วันนั้นหกพันเศษ ผมพยากรณ์ว่าสิ้นเดือนนี้จะถึงหมื่นสอง เมื่อวานตัวเลขขึ้นไปเป็นเจ็ดพัน และวันนี้เป็นเก้าพันแล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งที่ผมทำนายไว้จะมาถึงก่อนเวลาที่ผมคาดไว้

และแล้ว วันนี้รัฐบาลไม่มีทางเลือก ต้องประกาศ ล็อกดาวน์กรุงเทพ เพื่อให้การระบาดของโควิดดำเนินไปได้ช้าลง เบื้องต้นทางกระทรวงสาธารณสุขขอไว้ที่สองสัปดาห์ คงต้องดูต่อไปว่ามาตรการนี้จะได้ผลเพียงไร ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องขยายเวลาต่อไป

อันที่จริงผู้ติดเชื้อจำนวนมากขนาดนี้ระบบการติดตามสอบสวนโรค (Contact Tracing) ซึ่งขยายตัวไม่ได้ น่าจะรับไม่ไหว บุคลากรที่ทำงานสอบสวนและควบคุมโรคมีจำนวนคงที่ แต่จำนวนของผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณ ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่สอบสวนโรคไม่เสร็จ ไม่สามารถหาว่ามีผู้สัมผัสโรคซึ่งอาจจะเป็นผู้ติดเชื้ออยู่เท่าไร จำนวนผู้ติดเชื้อในรายงานจึงต่ำกว่าความเป็นจริง และความแตกต่างระหว่างตัวเลขที่แท้จริงกับตัวเลขรายงานก็จะเพิ่มแบบทวีคูณ

ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก จำนวนโรงพยาบาลสนามและ Hospitel หรือโรงแรมที่ปรับไปเป็นโรงพยาบาล ก็เพิ่มไม่ทัน ผู้ติดเชื้อจึงได้รับคำแนะนำว่าต้องแยกตนเองอยู่บ้าน แต่การแยกตนเองที่บ้านไม่สามารถทำได้เข้มงวดเท่าโรงพยาบาลสนาม ผู้ติดเชื้อจึงแพร่เชื้อได้มากกว่าเดิม จำนวนตัวเลขสำหรับทวีคูณที่ผู้ติดเชื้อแพร่ไปให้คนอื่น ก็เพิ่มขึ้น

เมื่อติดเชื้อไปแล้ว ก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่เจ็บป่วยต้องมาโรงพยาบาล จำนวนคนที่ต้องการการรักษาในโรงพยาบาลก็จะเพิ่มแบบทวีคูณ ผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ก็เพิ่มแบบทวีคูณอีก

ในนี้รวมทั้งผู้ป่วยหนักที่ในภาวะปรกติแล้วน่าจะรอดตาย แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ก็ต้องตายที่บ้าน จำนวนคนตายที่บ้านก็จะเพิ่มแบบทวีคูณ เดิมถ้าติดเชื้อโควิด อาจจะตายได้ราว 1- 1.5% เมื่อช่วงโควิดระบาดหนักต้องรักษากันเองที่บ้าน อัตราตายอาจจะเป็น 3-4% หรือมากกว่านั้น

อัตราเพิ่มของยอดตายจะสูงกว่าอัตราเพิ่มของยอดป่วย จำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มเท่าตัวในเวลา 2-3 สัปดาห์ จำนวนคนตายจากโควิดอาจจะเพิ่มเท่าตัวภายในสัปดาห์เศษ ๆ เท่านั้นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นการตายจากโควิดจะถูกสบทบด้วยการตายจากโรครุนแรงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด เช่น หัวใจขาดเลือด หลอดสมองแตกตีบตัน แม้กระทั่งไส้ติ่งอักเสบ ก็จะตายมากขึ้นเพราะไม่มีเตียงโรงพยาบาลรักษา

เหล่านี้แหละครับ ที่ผมเรียกว่า การมาถึงของ Funeral Phase (ระยะที่ต้องจัดการศพจำนวนมาก) ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วทั้งในประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป และประเทศยากจนอย่างอินเดีย ประเทศรายได้ปานกลางใกล้เคียงกับไทยอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย

มาตรการล็อคไม่ให้ผู้คนเคลื่อนไหวเดินทาง ถ้ามีการควบคุมอย่างเข้มงวด น่าจะเห็นผลอย่างเร็วที่สุดก็คง 14 วัน ที่ว่าเห็นผลคือจำนวนผู้ป่วยใหม่ไม่เพิ่มอย่างพุ่งพรวดแบบทุกวันนี้ ไม่ใช่ผู้ป่วยใหม่ลดลง

ระหว่างนี้ไม่ว่าผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงหรือไม่ เราก็จะได้สัมผัสคลื่นของ Funeral Phase เพราะการล็อคดาวน์ไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อที่ติดไปแล้ว ผู้ติดเชื้อหลายแสนคนอาจจะถึงหลักล้านต้องเดินทางเข้าสู่การเจ็บป่วยที่ต้องการการดูแลรักษา ต้องการโรงพยาบาล ซึ่งเรารักษาออกจากโรงพยาบาลได้เพียงวันละ 4000 พันคนเศษ ๆ เท่านั้น ผลของการล็อคดาวน์ต่อจำนวนคนตายจะเห็นได้ช้ากว่าผลที่เกิดขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยรายใหม่

นั่นหมายความว่า เราต้องใช้เวลาล็อคดาวน์มาทำงานเตรียมรับคลื่น funeral phase ให้เต็มที่ ห้ามใช้การล็อคดาวน์เป็นเวลาของการเบาเครื่อง (idle) ถ้าท่านไม่อยากเห็น funeral phase ขนาดใหญ่และยืดยาว และความระส่ำระสายอย่างรุนแรงของสังคม

ผมเชื่อว่าระบบสาธารณสุข มีงานชัดเจน และมากล้นมือ ไม่ได้เบาเครื่องอย่างแน่นอน แต่ละระบบอื่น ๆ เช่น กฎหมาย วิศวกรรม การเงินการลงทุน องค์กรการกุศล หน่วยงานพัฒนามนุษย์ ยังมองบทบาทของตนไม่ค่อยออก ไม่รู้ว่าเบาเครื่องขลุกอยู่กับงานประจำที่ทำจากบ้าน (work from home — wfh) ไปวัน ๆ รอเวลาให้คลายล็อคดาวน์เท่านั้นหรือเปล่า

งานเตรียมตัวเข้ารับมือกับ funeral phase ต้องการความริเริ่มสร้างสรรจาก ระบบที่ยกตัวอย่างมา และระบบอื่น ๆ ทั้งหมด

ตัวอย่าง เช่น ก็มีข่าวไวยาวัจกรวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีออกมาร้องว่าร้องว่า เมรุของวันจะรับการเผาศพไม่ไหวแล้ว กระบวนการเผาศพในแต่ละวันขณะนี้ ต้องดำเนินไปถึงตีหนึ่งตีสอง

ถ้าจำนวนคนเสียชีวิตต่อวันเพิ่มขึ้นสองเท่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าตามที่ผมพยากรณ์ไว้ ลำพังไวยาวัจกรวัดจะรับมือไหวหรือ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดที่จะไปตรวจสอบความพร้อมของเมรุตามวัดต่าง ๆ เมื่อมีการเผาศพจำนวนมาก เตาเผาซึ่งไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยจะส่งกลิ่นออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ จะมีกระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มีเทคโนโลยีราคาถูกที่แก้ปัญหานี้ได้ในเวลาอันรวดเร็วอะไรบ้าง ใครควรจะเป็นผู้จัดการตัดสินใจรับผิดชอบ

ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตในบ้านมากขึ้นทุกที หลายครัวเรือนขาดคนช่วยจัดการเพราะคนในครัวเรือนติดโควิดยกครัว กระบวนการอะไรในสังคมจะมาช่วยจัดการได้บ้าง ศพโควิดเป็นศพติดเชื้อ กว่าจะสร้างเมรุใหม่ให้เพียงพอกับการเผาศพคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ศพที่รอการเผาจะจัดการอย่างไร นำไปไว้ที่ไหน สนามกอล์ฟ หรือ สนามม้าดี จะขึ้นทะเบียนอย่างไรเพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตรับทราบและตามหาเพื่อจัดพิธีกรรมทางศาสนาในภายหลัง

รัฐบาลจะออกกฎหมายให้เกิดบริษัทเอกชนช่วยจัดการศพอย่างครบวงจรได้ไหม โควิดไม่เข้าใครออกใคร เราเห็นข่าวเศรษฐีตายปุบปับกันไม่น้อย คนที่มีปัญญาจ่ายเงินประกันจะได้เลือกประกันกับบริษัทที่รวมการจัดการเรื่องศพไว้อย่างเบ็ดเสร็จ จะได้ไม่เดือดร้อนญาติ การจัดการศพจำนวนมากอย่างถูกต้อง จะช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและลดภาระวัดวาไปในตัวด้วย

ระบบปรกติที่เราใช้อยู่ดัดแปลงมาจากระบบโบราณทีละเล็กทีละน้อย เมื่ออัตราตายของเรายังไม่สูงนัก หรืออย่างมากก็เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

แต่ตอนนี้ โควิดบังคับให้เราต้องวางแผนจัดการอย่างก้าวกระโดด ให้เราผ่านพ้นความทุกข์และความลำบากของ Funeral Phase ที่กำลังมาถึงไปได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เตรียมพร้อมรับการการเข้าสู่ Post-COVID Period คือ ยุคที่โควิดสงบแล้ว ซึ่งทุกคนใฝ่ฝันถึง แต่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร หน่วยงานต่าง ๆ อ่านแล้วต้องคิดช่วยกันตั้งแต่บัดนี้

Leave a comment