Source: พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ (มีหู) 1 ใน 8 พิมพ์นิยมมาตรฐานที่มีพบมากสุด
22 พ.ค. 2565 06:30 น.
สนามพระวิภาวดี สาขา กทม. ของท่านผู้ชมวันนี้ บอกได้เลยว่า ครึกครื้นม่วนซื่นกว่าวันอื่น เพราะหลังลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ กทม. กันแล้ว นักเล่นพระนักเลงพระส่วนใหญ่ก็ขออนุญาตคุณเมีย ไปชุมนุมกันตามร้านพระที่คุ้นเคย รอลุ้นผลเลือกตั้งว่าใครจะได้ใครจะมา ตัวเก็งหรือม้ามืด เพราะอยู่กันเป็นกลุ่มแก๊ง จะได้วิจารณ์การเมือง ใครมีอินไซด์อะไรก็มาโม้กัน มีรสชาติกว่าดูทีวีกับดูหน้าเมียเก่าๆอยู่กับบ้านเป็นไหนๆ
ระหว่างรอดูโฉมหน้า ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เรามาเปิดเวทีกันด้วย พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ (มีหู) วัดใหม่อมตรส เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตามที่เคยบอกไว้ว่า ตอนสงกรานต์ เสี่ยจตุโชค สัยยะนิฐี มีโชคใหญ่ได้ พระสมเด็จมาเป็นชุด ทั้ง วัดระฆังฯ-บางขุนพรหม รวม ๕ องค์
องค์นี้เป็น ๑ ในนั้น และเป็น ๑ ใน ๘ พิมพ์นิยมมาตรฐาน พระสมเด็จบางขุนพรหม ที่มีพบมากสุด แยกพิมพ์เป็นกลุ่มใหญ่ ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ๒ แบบคือ พิมพ์มีหู กับไม่มีหู อย่างองค์นี้ ซึ่งเป็นพิมพ์มีหูที่สองข้าง พระพักตร์มีเส้นขีดเป็นเส้น พระกรรณคมชัด ประกอบกับรายละเอียดในทุกเส้นศิลป์ ที่สวยคมสมบูรณ์แบบ กับสีเนื้อที่ขาวสะอาด
ภาพได้มา พร้อมฟิล์มเอกซเรย์จึงเคลียร์แอนด์คลีน ว่าปราศจากตำหนิ บอกได้ถึงความเป็นพระแชมป์องค์หนึ่งของพิมพ์ ที่มีในตำราอยู่คู่วงการมานานมากแล้ว
ต่อด้วย พระเปิม กรุวัดจามเทวี อ.เมือง ลำพูน ๑ ในพระพิมพ์ยอดนิยมเมืองเหนือ สกุลพระเมืองลำพูน ที่ได้รับความนิยมสูงมาพร้อม พระรอด พระคง พระบาง พระเลี่ยง พระลือ
ลักษณะเป็น พระพิมพ์เนื้อดินเผา รูปทรงเล็บมือ พุทธศิลป์สมัยหริภุญไชย ด้านหน้า เป็นพิมพ์องค์พระนั่งปางมารวิชัย เหนือฐานบัวตุ่ม อยู่ภายใต้ซุ้มปรกโพธิ์ ๘๔ ใบ ด้านหลัง มีเนื้ออูมปาดเรียบ องค์พระมีขนาดเขื่อง เป็นที่มาของนามเรียก พระเปิม ซึ่งภาษาเหนือแปลว่าใหญ่
ค้นพบตอนสงครามอินโดจีน เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๘๔ ทางการมีประกาศให้วัดต่างๆหาพระเครื่องวัตถุมงคลมอบแก่ทหารและประชาชนเป็นการบำรุงขวัญ–องค์นี้ ของ เสี่ยเซิ่น สิงคโปร์ เป็นพระสภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ ฟอร์มองค์ตรงสเปก พิมพ์องค์พระ เส้นสายลายศิลป์ลึกชัด เสมอกันทั่วองค์ พระพักตร์ปรากฏรายละเอียดพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ งดงามชัดเจน
องค์ต่อไปเป็น พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระพิมพ์นิยม อันดับ ๒ ในสกุล “พระนางพญา” ที่สมบูรณ์งดงามมาก ทั้งฟอร์มทรงที่ได้สัดส่วนเป็นมาตรฐาน พิมพ์พระที่ติดชัดลึกเสมอกันทั่วองค์
เด่นสุดที่พระพักตร์ปรากฏ พระ เนตร พระนาสิก ชัดเจนเป็นธรรมชาติ และเนื้อแน่น แกร่งผิวเนื้อละเอียดนวลสีน้ำตาลอ่อน สะอาดตา เนื้อในอุดมด้วยมวลสารว่านยา เม็ดแร่หินกรวดทรายครบเครื่อง ตามตำรา
สรุปว่าเป็น พระแชมป์ของพิมพ์ อีกองค์หนึ่ง ที่ตอนนี้หายาก–แค่รู้ว่ามีออกมา ยังไม่ทันได้ลงในสนามพระฯ วันนี้ กำนันมานะ คงวุฒิปัญญา ก็บอกมาว่า ขายแล้วเรียบร้อย ในราคา ๕.๔ ล้าน
ตามมาด้วย พระพิมพ์ลีลา หนังตะลุง เนื้อผงใบลาน หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี นครปฐม พระพิมพ์นิยมแถวหน้าราคาสูง ในสกุล “พระหลวงปู่บุญ”
สร้างไว้ทั้ง เนื้อดิน เนื้อผงพุทธคุณ เนื้อว่านยาจินดามณี และเนื้อผงใบลาน แบบองค์นี้ ของ เสี่ยเพชร–อิทธิ ชวลิตธำรง
ทุกเนื้อ ได้รับความนิยมสูง ราคาแตกต่าง เนื้อแพงสุด เป็น เนื้อว่านยา สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์ อยู่ที่หลักล้านอัป รองมาเป็น เนื้อผงใบลาน ถ้าสวยจี๊ด อย่างองค์นี้อยู่ที่หลักแสนกลาง-ปลาย ส่วน เนื้อดิน-เนื้อผง สภาพงามเข้าขั้น ราคาเบาๆ ที่หลักแสนต้นๆ
ตามมาด้วย พระปิดตา ลงกรุ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่ค้นพบบรรจุในองค์พระเจดีย์ในวัด ตั้งแต่สมัยหลวงปู่เอี่ยม เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ พบพระปิดตาพิมพ์เดียวกับที่ หลวงปู่เอี่ยม ท่านสร้างออกยุคต้นทั้ง ๓ พิมพ์ กับพระพิมพ์อื่นรวม ๗ พิมพ์
ตอนแรกที่พบ ก็สร้างความฮือฮาให้วงการ แสวงหากันมาก จนราคาพระหน้ากรุ ขยับจากหลักพันเป็นหลักหมื่นถึงหลักแสนต้น ในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนหยุดชะงัก เพราะมีเสียงค้านจากนักนิยมพระอีกกลุ่มหนึ่งว่า เป็นพระสร้างไม่ถึงยุคหลวงปู่เอี่ยม
และเริ่มมี “พระมือผี” สร้างเสริม ปะปนออกจากวัด จึงทำให้การเล่นหาพระกรุใหม่หยุดเงียบหลายปี จน ๑๐ ปีก่อน มีมืออาชีพรุ่นใหญ่สายตรงเบอร์ต้นของวงการ ออกมาพิจารณาชี้ชัดความแตกต่างของพระกรุใหม่กับพระสร้างเสริม ได้ชัดเจน จึงกล้าเล่นกัน ทำให้ความนิยมเริ่มกลับมาใหม่ โดยเน้นเล่นหาเฉพาะ พระพิมพ์ชะลูด เนื้อผงคลุกรัก เคลือบรัก ที่มีอายุความเก่าถึงยุคอย่างองค์นี้ ของ เสี่ยเซิ่น สิงคโปร์
ถัดไปเป็น เหรียญเสมา พ.ศ.๒๔๖๙ เนื้อเงิน หน้ากากนาก หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติฯ อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา พระอมตะเกจิฯแห่งเมืองกรุงเก่า ที่เกิดในครอบครัวชาวนา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ปลายยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ต.อรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โตขึ้นก็ช่วยพ่อแม่ทำนา จนอายุ ๒๗ ปี จึงอุปสมบท ณ วัดลกยสุธา ศาลาปูน โดยมี พระญาณไตรโลก (สอาด) เจ้าคณะใหญ่ จ.อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูกุศลธรรมธาดา วัดขุนยวน (วัดพรหมนิวาส) กับ พระอธิการชื่น วัดพระญาติ เป็นพระคู่สวด ได้ฉายา “ธมมฺโชติ”
ต่อมาท่านไปจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม ศึกษาพระธรรมวินัยเรียนรู้วิชาอาคมอย่างแตกฉานเชี่ยวชาญ จึงออกธุดงค์ไปตามป่าเขา จนมาถึงวัดพระญาติ จึงได้ปักกลดพำนักอยู่ในวัดนี้ตลอดมาจนถึงมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ และได้รับความศรัทธา ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเข้มขลังสูงสุด แห่งเมืองกรุงเก่า เจ้าตำรับวิชาคงกระพัน “ชาตรีเก้าเฮ”
ท่านสร้าง เหรียญปั๊มทรงเสมานี้ ออกในคราวงานปฏิ สังขรณ์พระอุโบสถ เป็น เหรียญรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม มีเนื้อโลหะทองแดง และเนื้อเงินที่มีหน้ากากปิดองค์ เป็น เนื้อทองคำ เนื้อนาก อย่างเหรียญนี้ ของ เสี่ยเด่น อยุธยา ซึ่งเป็นเหรียญสร้างพิเศษ เจอน้อยมาก (แปลว่าแพงมาก)
องค์ต่อไป เป็น พระปิดตา บัวผุด หลวงปู่ทิม อสิรโก วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย ระยอง ซึ่งเป็นพระพิมพ์ปิดตายุคแรกๆ ที่ท่านสร้างเป็นพิเศษ ด้วย เนื้อผงดอกไม้ ที่เกิดขึ้นบนขอนรางไม้ ที่หลวงปู่ใช้รองน้ำ เสกล้างหน้าทุกวัน พอท่านสังเกตเห็นมีดอกไม้ขนาดเล็กแทงต้นขึ้นจากขอนไม้ ท่านจึงเรียกว่า “บัวผุด” และได้เก็บรวบรวมมาตากแห้ง บดเป็นผง รวมกับผงพุทธคุณ นำมาสร้างเป็น เนื้อพระปิดตา เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ.๑๕๑๕
ได้พระ ๒๒ องค์ เก็บรักษาติดย่ามเป็นส่วนตัว ๑ องค์ มอบศิษย์ใกล้ชิดที่เป็นผู้ช่วยเป็นลูกมือสร้าง ๑ องค์ ที่เหลือเก็บมอบสำหรับศิษย์ ที่หลวงปู่บอกว่า พระทุกองค์มีเจ้าของอยู่แล้ว ถึงเวลาเขาจะมาเอาเอง
เมื่อคนที่ได้นำไปใช้บูชา พบประสบ การณ์อัศจรรย์ แบบครอบ จักรวาล โดยเฉพาะ ด้านเมตตา มหาโชค มหาลาภ หนุนนำความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน จึงมีผู้แสวงหากันมาก และนิยมเรียกว่า “พระปิดตาบัวผุด”
ถือเป็นพระสร้างชื่อเสียงของท่านยุคแรก ที่น้อยคนจะได้เป็นเจ้าของ เพราะจำนวนสร้างมีน้อย องค์นี้ ของ “เสี่ยมาร์ค–พิทยุตม์ สุนทรกลันต์” เป็น ๑ ในพระองค์ครู ที่มีภาพในหนังสือตำราพระหลวงปู่ทิม ฉบับมาตรฐาน
ต่อด้วย พระกริ่งชินบัญชร นวโลหะ ก้นทองแดง หลวงปู่ทิม อสิรโก วัดละหารไร่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นรุ่นที่ท่านเคยบอกตอนประกอบพิธีเททองสร้างพระชุดชินบัญชรว่า “อีกหน่อยพลิกแผ่นดินหาก็ไม่ได้”
พระชุดชินบัญชร มี ๔ แบบคือ ๑.พระกริ่ง ๒.พระชัยวัฒน์ ๓.พระสังกัจจายน์ ๔.พระปิดตา สร้างด้วยวิธีเทหล่อแบบโบราณ ด้วยเนื้อชนวนหลัก เป็น แผ่นยันต์ชินบัญชร แผ่นยันต์นะ ๑๐๘ ในลานพิธี วัดละหารไร่ เมื่อวันที่ ๕ พ.ค.๒๕๑๗
เมื่อออกให้บูชา คนพบอานุภาพเป็นประสบ การณ์อัศจรรย์รอบด้าน จึงได้รับความนิยมสูง ราคาจากหลักพัน จึงพรวดเป็นหลักหมื่นถึงหลักแสน เทียบชั้นพระกริ่งยอดนิยมยุคเก่าอย่างเร็ว
สำหรับ พิมพ์พระกริ่ง จำลองจากพระกริ่งใหญ่ของจีน เทหล่อด้วยเนื้อโลหะ มีเนื้อทองคำ ๑๓ องค์ เนื้อบรมพุทโธ ๙ องค์ เนื้อนวะก้นทองคำ 16 องค์ เนื้อนวะก้นผงพรายกุมาร ๑๐๔ องค์ เนื้อนวะก้นเงิน ๓๙๐ องค์ (ไม่ตอกเลข จำนวน ๑๙๕ องค์ ตอกเลข ๑๙๕ องค์ นำออกให้ทำบุญที่วัดเจ้าเจ็ด จ.อยุธยา)
และเนื้อนวะ ก้นทองแดง สร้าง ๒๕๙๕ องค์ ตอกโค้ด “นะ” ที่ฐาน ด้านหลังตอกเลขลำดับที่แผ่นปิดก้นทองแดง อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยโต เจริญพร ซึ่งเป็นพระสวยสภาพเดิมๆ
ระหว่างนับถอยหลังฟังผลผู้ว่าฯกทม. ก็ฮาๆกันกับเรื่องปิดท้าย ในบ้าน เจ้าสัวดนัย เจ้าของหมู่บ้านจัดสรรใน จ.อยุธยา ซึ่งเวลาอาหารเย็น สมาชิกในครอบครัวก็มาล้อมโต๊ะพร้อมหน้า ทั้ง เจ้าสัว ภรรยา ลูกชาย ลูกสาว
ก่อนเริ่มโซ้ย เจ้าสัว ซึ่งชอบพระเครื่อง นึกได้ว่าเคยให้พระ ลูก เมีย ไปคล้องคอ ก็หาเรื่องคุยกับลูกชายว่า เป็นไง ได้ พระขุนแผนบ้านกร่าง ของพ่อไปใช้ มีสาวๆเข้ามาหามากไหม ลูกชายก็พยักหน้ายิ้ม บอกก็พอมีครับ แต่ยังไม่โดนใจเท่าไร
เจ้าสัวพยักหน้ารับรู้ แล้วหันไปทางลูกสาว แล้วลูกสาวล่ะ พ่อให้ พระสังกัจจายน์ ไป ได้โชคมีลาภอะไรสมใจบ้างไหม
ลูกสาวบิดตัวอ้วนตุ้ยนุ้ย ตอบว่าจะเอาคืนพ่อแล้วค่ะ เพราะโชคลาภก็พอมีนิดหน่อย แต่ที่ได้มาก เป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา 10 กก. เพราะตั้งแต่ได้พระพ่อมาคล้องคอ หนูเห็นอะไรก็อยากกินไปหมด–สมอานุภาพของพระแนวอุดมสมบูรณ์เต็มๆเจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง
Leave a comment